ลูกไม่ชอบทานข้าวทำอย่างไรดี?

เด็กบางคนเมื่อถึงวัยที่ควรรับประทานข้าวได้แล้วกลับไม่ยอมทานข้าวเอาแต่กินนมตลอดทุกมื้อ หรือที่แย่กว่านั้นบางคนนมก็ไม่ยอมกินหรือกินเพียงนิดหน่อยเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอต่อร่างกายที่ต้องการอาหารไปเสริมสร้างให้สมบูรณ์จึงสร้างความหนักอกหนักใจให้กับพ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง หนักกว่านั้นเด็กบางคนเมื่ออยู่ในวัยเข้าโรงเรียนก็มีเพื่อนมากห่วงแต่เล่นกับเพื่อนไม่ยอมทานข้าวปลาอาหารที่แม่ทำให้ เด็กจึงดูผอมไปอย่างผิดหูผิดตา ดังนั้นควรใช้วิธีชักจูงใจเด็กให้หันมาสนใจกับการกินอาหารมากขึ้น วิธีต่างๆต่อไปนี้อาจช่วยได้

ให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำอาหาร
ให้ชักชวนลูกให้เพลิดเพลินไปกับการทำอาหารในแต่ละมื้อ เช่นอาจให้มีส่วนร่วมในการหยิบจับโน่นนี่ หรือช่วยล้างผักบางอย่างที่มีลักษณะแข็งเพื่อจะทำให้ไม่เละง่าย ผักที่ว่าอาจจะเป็นแตงกวา มะเขือ และให้พูดชมลูกเสมอในทำนองที่ว่า “หากไม่ได้ลูกช่วยทำกับข้าวแม่คงทำไม่อร่อยแน่เลย” หรือ” เป็นเพราะลูกนะนี่ที่ทำให้อาหารวันนี้อร่อยดูดีเป็นพิเศษ”  การพูดชมอย่างนี้จะทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมทำให้อยากกินกับข้าวฝีมือตัวเอง

ฝึกให้เด็กร่วมรับประทานอาหารกับผู้ใหญ่
การให้เด็กได้ร่วมรับประทานอาหารพร้อมๆกับพ่อแม่หรือผู้ใหญ่จากที่เด็กเคยกินน้อยหรือไม่ชอบกินข้าว แต่เมื่อเห็นสีสันของอาหารบนโต๊ะและเห็นกริยาท่าทางของพ่อแม่ที่หยิบโน่นตักนี่รับประทาน ทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนานและทำตามบ้างทำให้รู้สึกอร่อยไปกับอาหารที่รับประทานด้วยถึงแม้เขาจะหยิบตักอาหารหกบ้างก็อย่าไปถือสา เพราะอย่าลืมว่าเด็กจะทำอะไรควบคู่ไปกับการเล่นด้วยเสมอและอดทนทำสิ่งใดแบบเอาจริงเอาจังได้ไม่นาน

ควรเปลี่ยนเมนูอาหารบ่อยๆ
ไมเพียงแต่เฉพาะผู้ใหญ่ที่เบื่อเมนูอาหารเดิมๆบ่อยๆ ซ้ำซากจำเจ เด็กก็เช่นเดียวกัน ดังนั้นควรเปลี่ยนอาหารในแบบที่แตกต่างออกไปในแต่ละวัน เมื่อเด็กเห็นอาหารที่มีสีสันและรูปร่างแปลกๆแตกต่างกันไปในแต่ละวันหรือแต่ละมื้อ ก็มีความสนใจอยากตักขึ้นมากินยิ่งถ้าอาหารเหล่านั้นอร่อยด้วยก็จะอยากกินอีก หากไม่ถูกปากก็ยังมีอาหารอื่นๆให้เลือกแทน เรื่องการเปลี่ยนเมนูอาหารถ้าจะให้ได้ผลดีอีกวิธีก็คือให้ติดรูปอาหารชนิดต่างๆไว้ข้างฝา เช่นรูปอาหารหลักห้าหมู่ เป็นต้น แล้วพยายามชี้ชวนให้ลูกดูว่าที่ผ่านมาได้กินอาหารอะไรไปแล้วบ้างและมื้อต่อไปอยากกินอาหารอะไรอีกเด็กจะได้มีความรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในการเลือกเมนูอาหารด้วยตัวเองและจะได้รู้จักอาหารหมู่ต่างๆตามหลักโภชนาการด้วย

ฝึกให้เด็กใช้ช้อน
ผลดีของการฝึกให้เด็กรู้จักใช้ช้อนด้วยตัวเองก็คือ เด็กรู้จักการพึ่งตนเอง มีสมาธิ การเริ่มหัดให้เด็กใช้ช้อนควรเริ่มจากอาหารที่มีความเหนียวไม่เลอะเทอะได้ง่าย เช่น กล้วยบดที่มีความเหนียวเมื่อเด็กตักแล้วจะไม่หกได้ง่ายจนสามารเอาเข้าปากของเขาเองอย่างภูมิใจ ทำให้ครั้งต่อไปก็อยากที่จะใช้ช้อนและอยากรับประทานอาหารอีก

กล่าวคำชมเชยแก่เด็ก
เด็กๆทุกคนต้องการคำชมเมื่อเขาทำอะไรสักอย่างได้สำเร็จ เขาอยากให้พ่อแม่กล่าวชมเชยยกย่องเขาเพื่อเน้นย้ำว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้ว ดังนั้นในการกินข้าวของเด็กอาจหาตุ๊กตาสักตัวหรือสัตว์เลี้ยงที่เขาชอบมานั่งร่วมวงกับเขาด้วยโดยทำท่าป้อนข้าวให้เจ้าตุ๊กตาหรือสัตว์เลี้ยงดังกล่าวก่อน แล้วจึงชมตุ๊กตาหรือสัตว์เลี้ยงว่า ตุ๊กตาหรือสัตว์เลี้ยงของหนูเก่งจังเลยกินข้าวได้ด้วย เมื่อเขาเห็นก็รู้สึกอยากกินข้าวเพื่อจะได้เก่งเหมือนตุ๊กตาหรือสัตว์เลี้ยง และเมื่อเขากินแล้วก็อย่าลืมให้ชมเขาด้วย เช่นอาจกล่าวว่า เก่งมากๆเลยเก่งกว่าน้องตุ๊กตาอีก

อีกวิธีที่น่าจะได้ผลดีสำหรับเด็กไม่ชอบกินข้าวก็คือทำให้เด็กรู้สึกอยากกินโดยตักอาหารใส่ใน ถ้วย หรือจานสวยๆน่ารักๆที่มีลวดลายการ์ตูนหรือลายสัตว์ที่ลูกชอบเพื่อดึงดูดให้เขาอยากกินอาหารในจานใบนั้น หรืออาจให้เด็กกินข้าวพร้อมๆกับพี่น้องหลายๆคนหรือแม้แต่กับพ่อแม่โดยทำทีเป็นแข่งขันกันว่าหากใครกินหมดก่อนจะมีรางวัลให้ และให้รางวัลเขาด้วย แต่ต้องเป็นรางวัลที่เขาชอบเพื่อทำให้ครั้งต่อไปเขาอยากกินข้าวอีก เป็นต้น

เคล็ดลับถัดไป
เคล็ดลับก่อนหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิธีแก้ยางขนุนติดมือ

เคล็ดลับวิธีค้นหาเพื่อนเก่าในเฟสบุคหรือสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ

เคล็ดลับล้างเนื้อเค็ม ปลาเค็มให้หายเค็มเร็วๆ