โรคเบาหวานเข้าจอประสาทตา

เบาหวานเข้าจอประสาทตาอันตรายร้ายแรงเพราะสามารถทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าในผู้ป่วยเบาหวานทุกรายหลังจากเป็นเบาหวานมานานประมาณ 10-15 ปี จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาแม้ว่าจะได้รับการรักษาเบาหวานดีเพียงใดก็ตามที

สาเหตุที่เบาหวานขึ้นจอประสาทตา
เมื่อร่างกายอยู่ในภาวะที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานมีผลโดยตรงต่อเส้นเลือดฝอย เม็ดเลือดแดง และเกร็ดเลือด ผนังภายในของเส้นเลือดฝอยหนาขึ้น ประกอบกับเม็ดเลือดแดงและเกร็ดเลือดจับกันเป็นลิ่ม จนเกิดการอุดตันของเส้นเลือดฝอย มีผลให้จอประสาทตาขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดพยาธิสภาพที่จอประสาทตา อันเนื่องมาจากเบาหวานเกิดขึ้น

เบาหวานขึ้นจอประสาทตาแบ่งเป็นระยะตามการตรวจพบดังนี้
1 การเปลี่ยนแปลงแบบเริ่มต้น หรือ (Background Diabetic Retinopathy) ที่จอประสาทตาจะมีเส้นเลือดโป่งออกมา (Microaneurysm) ลักษณะคล้ายลูกประคำขนาดเล็กๆเส้นเลือดที่ผิดปกตินี้จะแตกง่าย เมื่อแตกออกก็จะเกิดเลือดออกบนจอประสาทตา นอกจากนั้นยังมีการจับตัวของสารประเภทไขมันสีขาวๆบนจอประสาทตา (Hard Exudate) และอาจมีหรือไม่มีอาการขาดเลือดเลี้ยงเส้นประสาทขนาดเล็กบนจอประสาทตา

2 การเปลี่ยนแปลงแบบรุนแรง (Proliferative Diabetic Retinopathy) หลังจากผ่านระยะการเปลี่ยนแปลงแบบที่ 1 มาแล้วสักระยะเวลาหนึ่งก็จะเกิดมีเส้นเลือดใหม่เกิดขึ้นบนจอประสาทตาเรียกว่า Retinal Neovascularization ซึ่งเส้นเลือดเหล่านี้จะแตกง่ายทำให้เกิดเลือดออกบนจอประสาทตา เมื่อเลือดที่ออกมานี้มีจำนวนมากขึ้นก็จะไหลเข้าไปในวุ้นลูกตา เรียกว่า Vitreous Hemorrhange เลือดเหล่านี้ก็ทำให้ผู้ป่วยตามัวลงมากทันทีนอกจากมีเส้นเลือดใหม่เกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีแผ่นผังผืดงอกขึ้นบนจอประสาทดึงจอประสาทตาให้หลุดออก เรียกว่า Tractional Retinal Detachment ทำให้ผู้ป่วยตาบอดได้

3 การเกิดบวมที่จุดศูนย์กลางจอประสาทตา (Macular Edema)
ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีการเปลี่ยนแปลงที่จอประสาทตาแบบที่ 1 หรือ 2 อาจเกิดมีการบวมที่จุดศูนย์กลางจอประสาทตา เรียกว่า Macular Edema ได้ จะทำให้ผู้ป่วยตามัวลงมาก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาไวขึ้นได้แก่
การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี
ภาวการณ์ตั้งครรภ์
โรคไต
โรคซีด
ความดันโลหิตสูง
ระดับไขมันในเลือดสูง
การเปลี่ยนแปลงจากระยะอันตรายน้องไปเป็นระยะอันตรายมาก อาจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วใน 1 ปีหรืออย่างช้าเป็นเวลา 20 ปีก็ได้

การรักษาเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
การรักษาในปัจจุบันจะใช้แสงเลเซอร์จี้จอประสาทตา (Argon Laser-Photocoagulation) ในรายที่เบาหวานขึ้นตามีความรุนแรง

หลักการรักษา
ในผู้ป่วยที่มีจุดรับภาพบวม จะใช้เลเซอร์ไปทำลายเส้นเลือดที่มีรอยรั่วทำให้จุดรับภาพลดบวมลงได้ การเห็นก็มักจะดีขึ้น
ในผู้ป่วยที่เส้นเลือดงอกผิดปกติ จะใช้เลเซอร์ไปทำลายจอประสาทตาที่ขาดเลือดและออกซิเจน มีผลให้เส้นเลือดที่งอกผิดปกติฝ่อลงเป็นการป้องกันเลือดออกในวุ้นตา และป้องกันการงอกใหม่ของเส้นเลือด

การผ่าตัดวุ้นตา
การรักษาโดยวิธีนี้จะทำในรายที่มีเลือดออกในวุ้นตา (Vitreous Hemorrhage) ผังผืดในวุ้นตาและเกิดจอประสาทตาหลุดออก การผ่าตัดวุ้นตาช่วยลดอัตราตาบอดได้ 60-70 %

การดูแลตาในผู้ป่วยเบาหวาน

ผู้ป่วยเบาหวานทุกท่านจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติที่สุดและสม่ำเสมอ ผู้ป่วยเบาหวานควรรับการตรวจจอประสาทตา โดยการขยายม่านตาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาให้ไวที่สุด และให้การรักษาในระยะที่เหมาะสม แม้ว่าผู้ป่วยยังรู้สึกว่าตาเห็นชัดเจนดีก็ตาม

เคล็ดลับถัดไป

เคล็ดลับก่อนหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิธีแก้ยางขนุนติดมือ

เคล็ดลับวิธีค้นหาเพื่อนเก่าในเฟสบุคหรือสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ

เคล็ดลับล้างเนื้อเค็ม ปลาเค็มให้หายเค็มเร็วๆ