การบำรุงดินเพื่อให้ได้ผลผลิตดี

ดินมีความสำคัญมากต่อการปลูกพืชและเพิ่มผลผลิตพืชที่ปลูกรวมทั้งให้ได้ผลผลิตในปริมาณมากและอุดมสมบูรณ์ แต่หากปลูกพืชซ้ำในดินเดิมหลายๆครั้งโดยไม่ได้ปรับปรุงบำรุงดินเลย ดินก็จะสูญเสียความอุดมสมบูรณ์  แข็ง ไม่ร่วนซุย ดูดซับน้ำและอาหารพืชไม่ค่อยได้ และทำให้ใช้ปุ๋ยเคมีได้ผลไม่ดี ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำและขายได้ราคาถูก
ดังนั้นการจะปลูกพืชให้ได้ผลผลิตดีนอกจากใช้ปุ๋ยเคมีแล้วต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยทุกปีเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน เพราะถ้าใช้ปุ๋ยเคมีแต่เพียงอย่างเดียวติดต่อกันนานๆจะทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์จนได้ผลผลิตน้อยลงๆทุกทีทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้นซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การปรับปรุงบำรุงดินทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
ใช้ปุ๋ยคอก คือการใช้มูลสัตว์ต่างๆ การที่จะได้มูลสัตว์ที่ดีสำหรับบำรุงดินควรใช้เศษซากพืช อย่าง ฟาง แกลบ หญ้าแห้ง ทำการรองพื้นคอกสัตว์ไว้ด้วยเพื่อให้ดูดซับธาตุอาหารจากมูลสัตว์ดังกล่าว เพราะมูลสัตว์มักจะสูญเสียธาตุอาหารไปได้ง่าย

ใช้ปุ๋ยหมัก คือการใช้เศษซากพืชที่เหลือจากการเพาะปลูกหลังเก็บเกี่ยว เช่น ฟางข้าว ซังข้าวโพด ต้นถั่วต่างๆ ผักตบชวา ตลอดจนของเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมรมและขยะมูลฝอย มาหมักรวมกันจนเน่าเปื่อยแล้วนำไปใช้ในไร่นาหรือสวนเพื่อบำรุงดิน

ใช้ปุ๋ยพืชสด พืชที่นิยมใช้ทำเป็นปุ๋ยพืชสดได้แก่ โสนแอฟริกัน โสนอินเดีย ปอเทือง ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วมะแฮะ กระถินยักษ์ และแหนแดง เป็นต้น วิธีทำก็คือปลูกลงบนดินรอให้ถึงช่วงออกดอกแล้วไถกลบหรือปลูกแล้วตัดส่วนเหนือดินไปไถกลบลงดิน ส่วนใหญ่จะใช้พืชตระกูลถั่วเพราะให้ธาตุไนโตรเจนสูง ย่อยสลายง่าย

ปลูกพืชคลุมดิน ให้ปลูกพืชตระกูลถั่วที่มีคุณสมบัติคลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืช ป้องกันการชะล้างหน้าดิน และพืชเหล่านี้เก็บความชื้นไว้ในดินได้ดีและยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินอีกด้วย ถั่วที่นิยมปลูกได้แก่ ถั่วลาย ถั่วคุดชู ถั่วคาโลโปโกเนียม เป็นต้น

ใช้วัสดุคลุมดิน ให้ใช้เศษเหลือใช้ของพืชหรือสัตว์หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว โดยใช้ส่วนของต้นพืช เศษพืชที่เหลือ เช่น ต้นและเปลือกถั่วลิสง แกลบ ตอซัง หรือวัสดุอื่นๆโดยให้ไถกลบกลับคืนลงไปในดิน และเศษเหลือของสัตว์เช่น เลือดและเศษซากสัตว์จากโรงงานชำแหละ ก็สามารถใช้เป็นปุ๋ยเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุได้ สิ่งเหล่านี้จะช่วยรักษาความชื้นในดิน ป้องกันการอัดแน่นของดินเนื่องจากฝน ป้องกันวัชพืชขึ้น และเมื่อเศษพืชเหลานี้สลายตัวก็จะกลายเป็นปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ดินอีกด้วย

ปลูกพืชหมุนเวียน ให้ปลูกพืชหลายชนิดหมุนเวียนเปลี่ยนไปในพื้นที่เดียวกันซึ่งควรมีพืชตระกูลถั่วที่มีคุณสมบัติบำรุงดินได้ดีร่วมอยู่ด้วย

การปรับปรุงดินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นควรใช้หลายๆวิธีที่กล่าวมาร่วมกัน เพราะถ้าใช้วิธีใดวิธีเดียวจะต้องทำในปริมาณมาก แต่ถ้าใช้วิธีปรับปรุงหลายวิธีร่วมกันจะทำให้ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละชนิดลดลงเพื่อสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ และควรทำการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องทุกปี เพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดีอยู่เสมออันจะเป็นประโยชน์ต่อการผลิตพืชผลทางการเกษตรในระยะยาวต่อไป

บทความถัดไป
บทความก่อนหน้า

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

วิธีแก้อาการปวดแสบร้อนเมื่อพริกเข้าตา

วิธีแก้ยางขนุนติดมือ

วิธีป้องกันและรักษาสิวบนแผ่นหลัง